นโยบายธรรมาภิบาล

                   คณะกรรมการบริษัท เอ็ม อี ซี ที จำกัด  ได้มีมติในการประชุมกรรมการบริษัทครั้งที่ 3/2559 เมื่อวันที่  20 เดือน สิงหาคม  พ.ศ. 2559  เห็นชอบให้กำหนดนโยบายธรรมาภิบาลของบริษัท  เพื่อให้คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานขององค์กรทุกคนยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมให้บริษัท เอ็ม อี ซี ที จำกัด เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ มีการกำกับดูแลกิจการ และบริหารจัดการที่ดีมีคุณธรรมในการดำเนินธุรกิจ มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ คณะกรรมการบริษัทฯมีความมุ่งมั่นที่จะบริหารงานโดยยึดหลัก

                   ธรรมาภิบาลขององค์กร ข้อพึงปฏิบัติที่ดีสำหรับกรรมการบริษัทเพื่อเตรียมจดทะเบียนและปฏิบัติตามกฎระเบียบและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเพื่อยกระดับการกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯไปสู่แนวปฏิบัติอันเป็นเลิศในระดับสากล ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นแก่ผู้ถือหุ้น และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และมุ่งมั่นที่จะกำกับดูแลการบริหารงานเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพ โดยได้กำหนดและดำเนินการตามหลักการ และนโยบายธรรมาภิบาลตามที่กำหนดไว้ดังนี้

1. นโยบายต่อผู้ถือหุ้น : การเคารพสิทธิของผู้ถือหุ้นและการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน

                   ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯทุกคน ในฐานะเป็นเจ้าของมีสิทธิต่างๆ ขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้นในฐานะเป็นเจ้าของได้แก่

        • สิทธิในการได้รับใบหุ้นและสิทธิในการโอนหุ้น
        • สิทธิในการได้รับสารสนเทศที่เพียงพอ ทันเวลา เหมาะสมต่อการตัดสินใจ
        • สิทธิในการเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อตัดสินใจ
        •   ในการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่สำคัญขององค์กร
        • สิทธิในการเลือกตั้งและถอดถอนกรรมการ
        • สิทธิในการให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สอบบัญชี
        • สิทธิในส่วนแบ่งผลกำไร

                    คณะกรรมการบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการประชุมผู้ถือหุ้น และมีนโยบายที่จะอำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกันในการเข้าร่วมประชุม การได้รับสารสนเทศ การซักถามและการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมผู้ถือหุ้น

                   คณะกรรมการบริษัท มีนโยบายที่จะเสนอเรื่องสำคัญๆ นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ถือหุ้นได้รับสารสนเทศอย่างครบถ้วน เพียงพอ และทันเวลา เพื่อการตัดสินใจ สนับสนุนและอำนวยความสะดวกต่อการออกเสียงลงคะแนน รวมทั้งการออกเสียงลงคะแนนโดยการมอบฉันทะ สนับสนุนให้ผู้ถือหุ้นได้แสดงความคิดเห็น และเปิดโอกาสขอคำอธิบายหรือตั้งคำถามใด ๆ และคณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่เข้าร่วมประชุมเพื่อตอบคำถามผู้ถือหุ้นโดยพร้อมเพรียงกัน คณะกรรมการบริษัทจะจัดทำรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นให้เสร็จสมบูรณ์ และแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบผ่านทางเว็บไซต์ขององค์กรโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ไม่เกิน 14 วัน นับจากวันประชุมผู้ถือหุ้น สำหรับผู้ถือหุ้นรายย่อย  องค์กรจะดำเนินการเพื่อเอื้อต่อการส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยได้มีสิทธิเสนอวาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นและเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการเลือกตั้งเป็นกรรมการได้ล่วงหน้าก่อนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น และจัดให้มีกรรมการอิสระที่มีความอิสระอย่างแท้จริงเข้ามาเป็นกรรมการฯ อย่างน้อย 3 คน

2. นโยบายด้านความขัดแย้งทางผลประโยชน์

                   คณะกรรมการบริษัท ถือเป็นนโยบายสำคัญที่จะไม่ให้กรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานใช้โอกาสจากการเป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานขององค์กรแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน จึงห้ามไม่ให้กรรมการประกอบธุรกิจที่แข่งขันกับองค์กร หลีกเลี่ยงการทำรายการที่เกี่ยวโยงกับตนเองที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับองค์กร หรือในกรณีที่จำเป็นต้องทำรายการเช่นนั้น คณะกรรมการบริษัทฯจะดูแลให้การทำรายการนั้น มีความโปร่งใส เที่ยงธรรม เสมอเหมือนการทำรายการกับบุคคลภายนอก ทั้งนี้กรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานที่มีส่วนได้เสียในรายการนั้นจะต้องไม่มีส่วนในการพิจารณาอนุมัติ ในกรณีที่เข้าข่ายเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันภายใต้ประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการบริษัทฯ จะดูแลให้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และการเปิดเผยข้อมูลรายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทจดทะเบียนอย่างเคร่งครัด

3. นโยบายต่อผู้มีส่วนได้เสีย

                   คณะกรรมการบริษัทรับรู้ถึงสิทธิของผู้มีส่วนได้เสีย จึงส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กร และผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญ อาทิ พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า เจ้าหนี้ หน่วยงานรัฐบาล ชุมชนที่องค์กรตั้งอยู่ ตลอดจนสังคมส่วนรวม โดยได้กำหนดคู่มือจริยธรรมธุรกิจสำหรับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานยึดถือในการปฏิบัติงานบนพื้นฐานของความเป็นธรรมและสมดุลในการประสานประโยชน์ร่วมกันเป็นหลัก

4. นโยบายด้านการเปิดเผยข้อมูล ความโปร่งใส รายงานทางการเงินและการดำเนินงาน

                  คณะกรรมการบริษัทมุ่งมั่นที่จะดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสอย่างเคร่งครัด และเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศทางการเงินตามกำหนดเวลา มีรายละเอียดอย่างเพียงพอ รวมทั้งผลประกอบการขององค์กร ที่ตรงต่อความเป็นจริง ครบถ้วน เพียงพอ สม่ำเสมอ ทันเวลา เพื่อแสดงให้เห็นถึงสภาพทางการเงินและการประกอบการที่แท้จริงรวมทั้งอนาคตของธุรกิจขององค์กร ดังนี้

                  4.1 รายงานและการวิเคราะห์ของฝ่ายบริหาร (Management Discussion Analysis (MD&A))

                  คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญกับการจัดทำบทรายงานและการวิเคราะห์ของฝ่ายบริหาร (MD&A) ทั้งรายปีและรายไตรมาสอย่างละเอียด

                 4.2 ข้อมูลทางการเงิน

                  ผู้สอบบัญชีที่องค์กรแต่งตั้งได้ให้การรับรองข้อมูลทางการเงิน โดยแสดงความเห็นอย่างเป็นอิสระ และคณะกรรมการบริษัทได้อธิบายความรับผิดชอบในการแสดงรายงานทางการเงิน ซึ่งคณะกรรมการบริษัท ได้พิจารณาแล้วและรับรองว่างบการเงินที่เปิดเผยนั้นมีความถูกต้อง ครบถ้วน เพียงพอ และได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป และมาตรฐานบัญชีสากล

                 4.3 ข้อมูลที่ไม่ใช่ทางการเงิน

                  องค์กรจะให้ข้อมูลอย่างครบถ้วน ชัดเจน ทั้งในรายงานประจำปี และในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี

5. นโยบายด้านการบริหารความเสี่ยง

                คณะกรรมการบริษัทจะจัดให้ องค์กรมีระบบบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องทุกด้านครอบคลุมปัจจัยความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับวิสัยทัศน์ เป้าหมาย กลยุทธ์ทางธุรกิจ การเงิน และการปฏิบัติการด้านอื่น ๆ พิจารณาถึงโอกาสที่จะเกิดและระดับความรุนแรงของผลกระทบ กำหนดมาตรการในการป้องกันแก้ไขและผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน รวมทั้งกำหนดมาตรการในการรายงานและการติดตามประเมินผล

6. นโยบายด้านการควบคุมภายใน

              คณะกรรมการบริษัทจะจัดให้องค์กรมีระบบการควบคุมภายในทุกด้าน และระบบตรวจสอบภายในต่าง ๆ ทั้งด้านการเงิน การปฏิบัติงาน การดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง การจัดให้มีกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ในการปกป้อง รักษา และดูแลเงินลงทุนของผู้ถือหุ้นและสินทรัพย์ขององค์กรอยู่เสมอ จัดให้มีการกำหนดลำดับชั้นของอำนาจอนุมัติและความรับผิดชอบของผู้บริหาร และพนักงานที่มีการตรวจสอบถ่วงดุลในตัว กำหนดระเบียบการปฏิบัติงานอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร มีสำนักตรวจสอบที่เป็นอิสระ รายงานตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ ทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติงานของทุกหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานธุรกิจ และหน่วยงานสนับสนุนให้เป็นไปตามระเบียบที่วางไว้

7. นโยบายด้านการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน

                 คณะกรรมการบริษัท กำหนดให้ฝ่ายบริหารต้องรายงานผลการดำเนินงานที่เกิดจริงเปรียบเทียบกับเป้าหมายให้คณะกรรมการบริษัททราบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้งานต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพทั้งรายงานทางการเงินและความคืบหน้าของการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ในกรณีที่การดำเนินงานไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ คณะกรรมการบริษัทจะมีส่วนร่วมแก้ไข ปรับปรุง หรือดูแลให้ฝ่ายบริหารนำเสนอแผนงานเพื่อแก้ไขสถานการณ์

                 คณะกรรมการบริษัทจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของกรรมการผู้จัดการ และผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารระดับสูงลงไปตามลำดับ โดยใช้เป้าหมายและหลักเกณฑ์ในการประเมินที่เชื่อมโยงกับแผนกลยุทธ์ และแผนงานประจำปี เพื่อพิจารณากำหนดค่าตอบแทนและมาตรการจูงใจที่เหมาะสม รวมทั้งจัดให้มีระบบประเมินตนเองของคณะกรรมการบริษัทด้วย

8. นโยบายด้านแผนสืบทอดตำแหน่งงาน (Succession Plan)

                คณะกรรมการบริษัท จะจัดให้มีการเตรียมบุคลากรเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงอย่างเป็นระบบ เพื่อให้มั่นใจว่า องค์กรจะมีผู้บริหารที่มีความรู้ ความสามารถ สามารถสืบทอดตำแหน่งงานที่สำคัญต่อไปได้ในอนาคต สำหรับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ต้องมีการกำหนดคุณสมบัติ และวิธีการสรรหาที่ชัดเจนและโปร่งใส

9. นโยบายด้านการพนักงาน

              คณะกรรมการบริษัท จะกำหนดให้มีการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้าย รวมถึงการให้รางวัลและการลงโทษพนักงานด้วยความถูกต้องชอบธรรม โดยอาศัยหลักเกณฑ์และตัวชี้วัดที่เป็นมาตรฐาน และเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านการพนักงาน

10. นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

              องค์กรตระหนัก ห่วงใย และเอาใจใส่ต่อสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงให้ความสำคัญในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ คืนกำไรส่วนหนึ่งเพื่อกิจกรรมที่จะมีส่วนสร้างสรรค์สังคม สนับสนุนการศึกษาแก่เยาวชน และสนับสนุนกิจกรรมสาธารณประโยชน์แก่ชุมชนที่ด้อยโอกาส ให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้

              องค์กรจะปฏิบัติ และให้ความร่วมมือ หรือควบคุมให้มีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และกฎระเบียบที่ออกโดยหน่วยงานกำกับดูแล

11. วัฒนธรรมองค์กรและการเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้บริหารระดับสูงขององค์กร

              คณะกรรมการบริษัท จะถือเป็นหน้าที่ในการจัดให้ องค์กรมีวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะสม โดยมอบหมายให้ฝ่ายบริหารเป็นผู้นำเสนอวัฒนธรรมองค์กรที่พึงประสงค์ และดูแลให้มีการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพไปยังพนักงาน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกัน โดยคณะกรรมการบริษัทและฝ่ายบริหารมีหน้าที่ประพฤติปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดี

12. โครงสร้างและองค์ประกอบของคณะกรรมการ

             (1) คณะกรรมการและคณะกรรมการชุดย่อย

              (1.1) คณะกรรมการ

              กรรมการแต่ละคนต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด และกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  คณะกรรมการบริษัทมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลกิจการ และเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติหน้าที่ต่อผู้ถือหุ้น โดยคณะกรรมการบริษัทประกอบด้วยกรรมการอิสระอย่างน้อยหนึ่งในสาม (1/3) ของจำนวนกรรมการทั้งหมด แต่ต้องไม่น้อยกว่าสาม (3) คน และกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง(1/2) ของจำนวนกรรมการทั้งหมดต้องมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร โดยกรรมการต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายและข้อบังคับองค์กรกำหนด ทั้งนี้ กรรมการบริษัทอย่างน้อย หนึ่ง(1) คน ต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในด้านการบัญชีและการเงิน คณะกรรมการบริษัทมีคุณสมบัติหลากหลาย มีทักษะ ประสบการณ์ ความสามารถเฉพาะด้านที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร คณะกรรมการบริษัท เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร โดยมีกรรมการอิสระตามคุณสมบัติที่องค์กรกำหนดเป็นกลไกสำคัญในระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นผู้ใช้ดุลยพินิจและให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมา ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจ ปราศจากการถูกครอบงำจากกลุ่มที่มีผลประโยชน์อื่นใด ทุกครั้งที่มีการแต่งตั้งกรรมการใหม่ คณะกรรมการสรรหาจะทำหน้าที่พิจารณาสรรหาผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการ  พร้อมประวัติอย่างเพียงพอสำหรับการคัดเลือก และพิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลเป็นกรรมการใหม่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาที่คณะกรรมการสรรหากำหนดไว้อย่างโปร่งใส กรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ จะได้รับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับข้อมูลที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่กรรมการบริษัท ภายในเวลาสามเดือน นับจากวันที่ได้รับการแต่งตั้ง

              (1.2) คณะกรรมการชุดย่อย

               คณะกรรมการบริษัท แต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อย ประกอบด้วยคณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน  และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์

ทำหน้าที่และรับผิดชอบ เพื่อให้การดำเนินการขององค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

               (1.2.1) คณะกรรมการตรวจสอบ

               คณะกรรมการตรวจสอบ ประกอบด้วยกรรมการบริษัทที่เป็นกรรมการอิสระจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน และอย่างน้อย 1 คน ต้องเป็นผู้มีความรู้ด้านบัญชีและการเงิน มีหน้าที่พิจารณาและให้ความเห็นอย่างเป็นอิสระ เพื่อให้มั่นใจว่าการปฏิบัติงานเป็นไปตามกฎหมาย มีกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมและมีประสิทธิผล โดยมีหน่วยงานตรวจสอบภายในที่รายงานตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ ทำหน้าที่สอบทานรายงานทางการเงินร่วมกับผู้บริหารที่รับผิดชอบและผู้สอบบัญชี และปฏิบัติงานอื่นใดที่ไดัรับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท

               (1.2.2) คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน

               คณะกรรมการสรรหา แต่งตั้งจากกรรมการบริษัท อย่างน้อย 3 คน และอย่างน้อย 1 คน ต้องเป็นกรรมการอิสระ มีหน้าที่ดำเนินการตามกระบวนการสรรหา ที่คณะกรรมการบริษัทเห็นชอบ ด้วยความโปร่งใส เพื่อให้ได้บุคคลที่มีคุณสมบัติ จริยธรรม และประสบการณ์ ที่เหมาะสมสำหรับตำแหน่งกรรมการ หรือ กรรมการอิสระ และมีหน้าที่พิจารณาหลักเกณฑ์ และวิธีการกำหนดค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ให้แก่กรรมการ อนุกรรมการ และคณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัท ที่เป็นธรรมและสมเหตุสมผล และเสนอคณะกรรมการบริษัทเพื่อเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติ

               (1.2.3) คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง

               คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง แต่งตั้งจากกรรมการบริษัท อย่างน้อย 3 คน มีหน้าที่กำหนดนโยบายและกรอบการดำเนินงานการบริหารความเสี่ยงขององค์กร รวมทั้งให้คำแนะนำคณะกรรมการบริษัท และฝ่ายบริหาร ในเรื่องการบริหารความเสี่ยงระดับองค์กร กำกับดูแล สนับสนุนให้การบริหารความเสี่ยงประสบความสำเร็จในระดับองค์กร เสนอแนะวิธีป้องกันและวิธีลดระดับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ติดตามประเมินผล และปรับปรุงแผนการดำเนินงาน เพื่อลดความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องและเหมาะสมกับสภาวะการดำเนินธุรกิจ

              (2) บทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการ

              (2.1) บทบาท

                คณะกรรมการบริษัทเปรียบเสมือนตัวแทนของผู้ถือหุ้น เป็นผู้นำในการกำหนดทิศทาง เป้าหมาย นโยบายทางธุรกิจ และตัดสินใจในเรื่องสำคัญขององค์กร ทำหน้าที่อย่างมืออาชีพในการดูแลผลประโยชน์ของทุกฝ่าย และติดตามการดำเนินงานของฝ่ายบริหาร โดยมอบอำนาจให้ฝ่ายบริหารสามารถดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานในเรื่องสำคัญจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทก่อน

               (2.2) หน้าที่ความรับผิดชอบ

                คณะกรรมการบริษัท จัดให้มีระบบแบ่งแยกตามบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างคณะกรรมการและฝ่ายบริหารที่ชัดเจนตามที่กำหนดในข้อบังคับขององค์กร คณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่กำหนดวิสัยทัศน์ ภารกิจ และนโยบายสำคัญ ติดตามผลการดำเนินงานของฝ่ายบริหาร และดูแลให้มีระบบควบคุมภายใน กระบวนการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม กำกับดูแลกิจการที่ดี และดูแลให้มีการสื่อสารในเรื่องต่าง ๆ กับผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) และสาธารณชน รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือ เพื่อประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืน

                คณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่รายงานให้องค์กรทราบถึงการมีส่วนได้เสียของตนหรือของบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกิจการขององค์กร หรือบริษัทย่อย และรายงานข้อมูลเพิ่มเติมทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยกรอกรายละเอียดการมีส่วนได้เสียของตนและบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องในแบบรายงานการมีส่วนได้เสียของกรรมการบริษัท ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

               (3) การกำกับดูแลการใช้ข้อมูลภายใน

                เพื่อการกำกับดูแลการใช้ข้อมูลภายใน ห้ามบุคลากรทุกระดับขององค์กรใช้ข้อมูลภายในอันเป็นสาระสำคัญและมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ ซึ่งยังมิได้เปิดเผยต่อสาธารณชน และตนล่วงรู้จากการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าเพื่อประโยชน์ของตนหรือบุคคลอื่น คณะกรรมการบริษัท และผู้บริหารระดับสูงมีหน้าที่ที่จะต้องรายงานการซื้อขายหลักทรัพย์ ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายและจำกัดการซื้อขายหลักทรัพย์บริษัทในช่วงเวลาที่กำหนด

               (4) การสื่อสารกับคณะกรรมการ

               องค์กรจัดให้มีช่องทางสำหรับผู้มีส่วนได้เสียในการติดต่อสื่อสารกับคณะกรรมการบริษัท โดยสามารถส่งจดหมายสื่อสาร แจ้งข้อมูล หรือข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์มายังองค์กร เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนด

              (5) การประชุมคณะกรรมการบริษัท

              (5.1) คณะกรรมการบริษัท มีกำหนดการประชุมเป็นประจำไม่น้อยกว่าปีละ 4 ครั้ง แต่ละครั้งไม่เกิน 90 วันและประชุมเพิ่มเติมตามความจำเป็น โดยประธานกรรมการเป็นผู้จัดสรรเวลาที่เพียงพอ เพื่อให้กรรมการอภิปรายประเด็นต่าง ๆ ในการบริหารจัดการและการกำกับดูแลกิจการ หรือกำกับให้การเสนอเรื่องเข้าสู่วาระการประชุมได้อย่างรอบคอบและมีประสิทธิผล ส่งเสริมให้ใช้ดุลยพินิจอย่างเป็นอิสระและเชิญผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้ให้ข้อมูลสารสนเทศที่จำเป็นประกอบการพิจารณาตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม

               (5.2) คณะกรรมการบริษัท มีนโยบายในการจัดประชุมระหว่างกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร โดยไม่มีฝ่ายบริหารอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

              (6) วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการ

               ในการประชุมสามัญประจำปีทุกครั้ง ให้กรรมการออกจากตำแหน่งตามวาระหนึ่งในสาม (1/3) เป็นอัตรา ถ้าจำนวนกรรมการที่จะออกจากตำแหน่งตามวาระแบ่งออกให้ตรงเป็นสาม (3) ส่วน ไม่ได้ ก็ให้ออกโดยจำนวนใกล้ที่สุดกับส่วนหนึ่งในสาม (1/3) กรรมการที่จะต้องออกจากตำแหน่งในปีแรกและปีที่สอง ให้กรรมการจับสลากกันว่าผู้ใดจะออก ส่วนในปีที่สามให้กรรมการคนที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดเป็นผู้ออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ กรรมการที่ออกตามวาระนั้นอาจได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาดำรงตำแหน่งใหม่ได้

             (7) การดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรอื่น

               กรรมการบริษัท ต้องดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรและหรือนิติบุคคลอื่นไม่เกินสาม (3) แห่ง เพื่อให้กรรมการสามารถจัดสรรเวลาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ